Wednesday, January 18, 2012

จับตาโลกใน 4 ทศวรรษ เศรษฐกิจเกิดใหม่ จะครองบัลลังก์

               ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสเศรษฐกิจโลกในยุคศตวรรษใหม่กำลังจับตามองการเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แบบตาไม่กะพริบ ในฐานะที่กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่เพิ่มบทบาทกลายมาเป็นพระเอกครองเวทีโลกแทนที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ที่นับวันจะติดกับดักในวิกฤตปัญหาการเงินของตัวเองทั้งในสหรัฐ และยุโรป จนทำให้อิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

จากการคาดการณ์ของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (เอชเอสบีซี) เมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้นดูหรูหราระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของขั้วโลกครั้งใหม่ทีเดียว โดยในปี 2050 ผลผลิตของโลกที่เกิดจากกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้นจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จีนจะก้าวแซงสหรัฐขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยอินเดีย ตามมาเป็นอันดับ 3

ในปี 2050 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ยังจะมีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าตัว และจะมีขนาดที่ใหญ่กว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก ตุรกี อินโดนีเซีย อียิปต์ มาเลเซีย โคลัมเบีย เวเนซุเอลา และไทย ซึ่งจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากที่สุดกลุ่มหนึ่งด้วย

ผลผลิตมวลรวมของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวด้วยแรงผลักดันจากการเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยการเติบโตของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีอัตราเติบโตมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 2 เท่า

เจาะลึกไปที่อินเดีย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา อินเดียจะทำได้ไม่ค่อยดีนักกับการพัฒนาเศรษฐกิจ อันมีปัญหามาจากที่รัฐบาลกลางยังควบคุมระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับศักยภาพการนำทรัพยากรมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดยังไม่ค่อยจะดีนัก

แต่ทว่า ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อินเดียเริ่มที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นมากขึ้น เช่นการผ่อนคลายข้อจำกัดของการออกใบอนุญาตด้านอุตสาหกรรม และผ่อนคลายข้อกำหนดการนำเข้าสินค้า

ขณะที่ในภูมิภาคละตินอเมริกานั้น ดูเหมือนว่าจะเปิดกว้างมากกว่าสู่การแข่งขันในเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มพิกัด

แต่ทว่า จากปัญหาแผลเรื้อรังในด้านวินัยทางการเงินมาตั้งแต่ยุค 1970 และ 1980 นั้น ทำให้ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงต่อปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคตสูง การแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลจึงถือว่าเป็นอนาคตของเศรษฐกิจละตินอเมริกาทีเดียว

ส่วนจีนนั้นที่ผ่านมาได้เปิดประเทศสู่การลงทุนตรงจากต่างชาติ และเปิดการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มสูบ แต่ทว่า จีนก็มีปัญหาท้าทายมากมายที่ต้องตามล้างตามเช็ด เช่น ปัญหาการขาดโครงสร้างสาธารณูปโภค

แต่ทว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญของจีนในอนาคตนั้นจะอยู่ที่การเปิดเสรีของภาคการเงิน ซึ่งจะทำให้การจัดสรรเงินทุนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร

กระนั้นก็ตาม แม้ว่าในปี 2050 นั้น จะถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกเท่านั้น เพราะแม้ว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีอัตราการเติบโตที่น่าตื่นตะลึง อย่างเช่นขนาดเศรษฐกิจของจีนจะโตขึ้นมากกว่า 7 เท่า แต่ทว่านั้นไม่ได้หมายความว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะได้เลื่อนขั้นสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างง่ายๆ นัก

กรณีตัวอย่างของจีน หากพิเคราะห์ลงไปแล้วจะเห็นว่า ในปี 2050 แม้ว่าจีนจะขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทว่า รายได้ต่อหัวประชากรของจีนจะคิดเป็นเพียง 32% ของรายได้ต่อหัวประชากรในสหรัฐเท่านั้น ซึ่งรายได้ประชากรถือว่าเป็นมิเตอร์วัดสำคัญของคำว่า “พัฒนาแล้ว”

นั่นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 20 ที่ต้องพบกับความล้มเหลวของการพัฒนามาตรการการครองชีพของประชากรมาตลอด

เพราะอะไร?

ต้องยอมรับว่า แรงผลักดันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่นั้นยังคงพึ่งพาการเป็นฐานการผลิต และการเป็นฐานของผู้ผลิตอาหารโลก

ในจีนนั้น 12% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติมาจากผลผลิตทางการเกษตรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งแรงงานเป็นสำคัญคิดเป็นถึง 40% ของประชากรทั้งหมดเป็นผู้สร้างทีเดียว

การพึ่งพาประชากรจำนวนมากเพื่อสร้างผลผลิตในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งการพึ่งพาแรงงานจำนวนมากดังกล่าว จะยิ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเขตเมืองมากขึ้น เมื่อประชากรมากขึ้น เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาประชากร และการกระจายรายได้มากขึ้น

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้จำเป็นควบคุมและเร่งรับมือกับปัญหาที่จะตามมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาแรงงานเพื่อรองรับกับผลผลิตที่มีความซับซ้อนกว่าเดิม หรือการกระจายรายได้ที่จะต้องเป็นธรรมมากขึ้น

ดังเช่นรายงานของ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ฉบับล่าสุดที่เตือนว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมของประชากรโลก โดยเฉพาะในด้านการกระจายรายได้นั้นจะกลายเป็นความเสี่ยงครั้งใหม่ของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ทีเดียว ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้แต่ละประเทศเลือกที่จะใช้นโยบายเชิงปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเต็มที่

สำหรับสหรัฐ แชมป์ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในวันนี้ แม้ว่าในอีก 4 ทศวรรษหน้าจะถูกจีนแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่ก็ถือว่าสหรัฐจะยังประคองตัวได้อยู่ในระดับท็อปของกลุ่มได้ต่อไป จากพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ตลอดจนสหรัฐยังมีฐานะประชากรที่มีความรู้แน่น ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนของประเทศที่สำคัญต่อไป

ดังนั้น แม้ว่าสหรัฐจะหลุดจากตำแหน่งแชมป์โลก แต่สหรัฐก็ยังจะคงอำนาจในเวทีนโยบายโลกต่อไป สวนทางกับประเทศที่มีขนาดประชากรไม่มากนักในยุโรป เช่น สวีเดน เบลเยียม ออสเตรีย นอร์เวย์ หรือเดนมาร์ก ที่จะไม่สามารถเกาะกระแสการเติบโตของโลกได้ดีนัก เพราะนอกจากปริมาณแรงงานในประเทศไม่เพียงพอแล้ว หนำซ้ำยังมีประชากรวัยเกษียณที่ต้องดูแลจำนวนมากขึ้นอีกด้วย

แต่สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แล้ว อาจจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่อีกไม่นานนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มที่ครองอิทธิพลหลักในเวทีเศรษฐกิจโลก

แต่ทว่า ไม่ใช่เวทีสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน หรือแรงงาน

หรือแม้แต่คำว่า “พัฒนาแล้ว” ถ้าหากภาครัฐไม่คิดจะกระจายรายได้ให้เท่าเทียม และไม่คิดจะพัฒนาคน ให้ทันการพัฒนาของเศรษฐกิจในชาตินั้นๆ

No comments:

Post a Comment