Friday, September 23, 2011

อาการบวมในช่องปาก

ปกติแล้วในช่องปากของคนเราจะปกคลุมไปด้วยเนื้อ เยื่ออ่อนสีชมพูจางๆ เรียบ ลื่น แต่ถ้าหากบริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่องปากมีการบวมนั่นอาจจะเป็นสิ่งบ่งบอกว่า มีความปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว
ริมฝีปากบวมอาจเกิดจากอาการแพ้ต่อสิ่ง ที่สัมผัสกับริมฝีปาก เช่น อาหารบางประเภท เครื่องสำอางค์ ยา เป็นต้น บางกรณีการได้รับความร้อน ความเย็น ความเครียด การอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดริมฝีปากบวมได้เช่นกัน ริมฝีปากบวมที่เกิดจากอาการแพ้นั้นเมื่อได้รับยาแก้แพ้อาการควรจะดีขึ้น หากอาการบวมยังคงอยู่ควรจะมาตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้องต่อไป
เหงือกบวมสาเหตุที่ทำให้เหงือกบวมนั้นมีได้หลายสาเหตุ อย่างเช่น
มีการสะสมของหินปูนที่ฟันหินปูนเต็มไป ด้วยเชื้อโรคที่ทำให้เหงือกรอบๆ ซี่ฟันและระหว่างซี่ฟันอักเสบบวมและยังสามารถละลายกระดูกเบ้าฟัน ทำให้เหงือกร่น ฟันโยกได้ เมื่อกระดูกเบ้าฟันถูกทำลายมากขึ้นจะเกิดร่องลึกระหว่างเหงือกและฟันทำให้มี เชื้อโรคสะสมที่ก้นของร่องลึก เกิดการติดเชื้อเป็นหนองและบวมได้ การรักษาสามารถทำได้โดยการพยายามใช้เครื่องมือทางทันตกรรมล้วงเข้าไปทำความ สะอาดในร่องลึกระหว่างเหงือกและฟันดังกล่าว และอาจจะต้องมีการตัดแต่งเหงือกที่ไม่แข็งแรง แต่ถ้าหากกระดูกเบ้าฟันถูกทำลายไปมากจนทำให้ฟันโยก ฟันซี่นั้นอาจจะต้องถูกถอนออกไป
ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันเมื่อมีฟันที่ผุ จนทะลุถึงโพรงประสาทฟันที่อยู่กลางตัวฟันจะทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่โพรง ประสาทฟัน มีการติดอักเสบติดเชื้อในตัวฟันลามไปถึงปลายรากฟัน หากยังไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ การอักเสบจะลุกลามไปยังกระดูกรอบๆ รากฟัน ทำให้เกิดหนองหรือถุงน้ำปลายรากฟัน ซึ่งเราสามารถเห็นได้ทางคลินิกในลักษณะของเหงือกบวม
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมีผลทำให้เหงือกบวมได้ ที่พบบ่อยคือในผู้หญิงมีครรภ์
  • การได้รับยาบางกลุ่มก็มีผลให้เหงือกบวมโดยทั่วไปได้ เช่น ยาบางตัวในกลุ่มของยากันชัก ยาโรคหัวใจที่ออกฤทธิ์โดยการต้านแคลเซียม ยากดภูมิคุ้มกัน ยาคุมกำเนิด เป็นต้น หากพบว่าเหงือกบวมจากผลของยา การหยุดยาดังกล่าวอาจจะช่วยลดขนาดของเหงือกที่บวมลงไปได้ หากยังมีบางตำแหน่งที่เหงือกยังบวมโตอยู่หลังจากหยุดยาแล้ว การตัดแต่งเหงือกจะสามารถช่วยลดขนาดของเหงือกบวมได้
  • หากกำจัดสิ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุของเหงือกบวมแล้ว แต่เหงือกยังบวมอยู่ อาจเป็นไปได้ว่ามีการพัฒนาของเนื้องอก การรักษาก็ทำได้โดยการตัดเหงือกบริเวณนั้นออกและอาจจะรวมถึงกระดูกโดยรอบ ด้วย
เพดานปากบวมอาการบวมบริเวณเพดานปากอาจมีสาเหตุมาจาก
เนื้องอกของต่อมน้ำลายที่พบได้บ่อยใน บริเวณเพดานจะเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลายเล็กๆ ที่อยู่บริเวณเพดาน เนื้องอกจะโตช้า ปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อปกติในช่องปาก เวลาคลำจะรู้สึกว่าก้อนเนื้อมีความแน่นแต่ไม่แข็งเหมือนคลำกระดูก ไม่ค่อยมีอาการเจ็บ การรักษาคือ การผ่าตัดเอารอยโรคออก
ถุงน้ำบริเวณขากรรไกรถุงน้ำที่พบบริเวณ นี้อาจจะเป็นถุงน้ำที่เกิดร่วมกับการมีฟันฝังคุดในกระดูกขากรรไกร หรือเป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นจากส่วนของเนื้อเยื่อที่พัฒนาเป็นฟันที่ยังคง เหลืออยู่หลังจากที่มีการสร้างฟันเรียบร้อยแล้ว ถุงน้ำเหล่านี้จะโตแบบช้าๆ หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่อาจจะทำให้รากฟันที่อยู่ใกล้รอยโรคมีการเคลื่อนที่ บิดหมุน หรือซ้อนเกจากการเบียดของถุงน้ำ ถุงน้ำบางชนิดมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำหลังจากการรักษาค่อนข้างสูง ดังนั้นการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพิจารณาให้การ รักษาที่เหมาะสม
หากบริเวณที่บวมค่อนข้างแข็งคล้ายกระดูก อาจเกิดจากมีฟันฝังคุดบริเวณนั้น หรือมีปุ่มกระดูกโตกว่าปกติซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ปุ่มกระดูกที่โตนี้พบได้หลายขนาดต่างๆ กันตั้งแต่ไม่ถึงเซ็นติเมตรจนถึงหลายๆ เซ็นติเมตรจนบางครั้งอาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญเนื่องจากจะมีอาการ ระคายเคืองเมื่อทานอาหาร ปุ่มกระดูกนี้อาจจะขัดขวางการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ที่ต้องมีการพาดผ่านเพดาน เพื่อเพิ่มการยึดอยู่ในช่องปากของฟันปลอม หากมีอาการระคายเคืองหรือต้องใส่ฟันปลอมผู้ป่วยสามารถมารับการผ่าตัดปุ่ม กระดูกเหล่านี้ออกได้
ปุ่มกระดูกที่โตมากกว่าปกตินี้สามารถพบได้ที่ ขากรรไกรล่างด้านลิ้นและบริเวณเหงือกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็สามารถตัดแต่งได้ในกรณีที่เกิดอาการระคายเคืองหรือต้องใส่ฟันปลอมแบบ ถอดได้
เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากบวมบางกรณีการ กัดกระพุ้งแก้มต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวมโตขึ้น เป็นตุ่มนูน ที่พบได้บ่อยคือ ผู้ป่วยถอนฟันไปบางซี่เป็นระยะนานแล้วไม่ได้ใส่ฟันปลอมทดแทน กระพุ้งแก้มที่อยู่บริเวณฟันที่ถอนไปก็จะเข้ามาที่ช่องว่างนั้นได้ง่าย เนื่องจากไม่มีฟันคอยกันไว้และถูกกัด เมื่อเวลาผ่านไปเกิดเป็นตุ่มนูนขึ้น หรือในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องมือจัดฟันจะพบได้ว่าเนื้อเยื่ออ่อนด้านในของริม ฝีปากบนหรือล่างจะถูกระคายเคืองทำให้เป็นตุ่มนูนเล็กๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน กรณีมีตุ่มนูนเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย แต่อาจจะสร้างความรำคาญหรือความกังวลให้ผู้ป่วย การรักษาทำได้โดยตัดเนื้อเยื่อบริเวณนั้นออก และแก้ที่สาเหตุด้วยหากเป็นไปได้ อย่างเช่น ใส่ฟันปลอมในกรณีที่มีฟันที่ถอนไปนาน หรือทาวาสลีนเคลือบเครื่องมือจัดฟันเพื่อลดการระคายเคือง
การกัดด้านในของริมฝีปากล่างอาจจะตัดท่อน้ำลาย ของต่อมน้ำลายเล็กๆที่อยู่บริเวณนั้น ทำให้มีการขังของน้ำลายในเนื้อเยื่ออ่อนทำให้มีการบวมเป็นลักษณะตุ่มนูนใสๆ ซึ่งตุ่มนูนที่มีการขังของน้ำลายนี้พบได้หลายบริเวณในช่องปาก เนื่องจากในช่องปากมีต่อมน้ำลายเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป หากตุ่มนูนนี้เกิดขึ้นบริเวณผิวบนๆ ก็สามารถแตกยุบไปได้เอง แต่ถ้าหากตุ่มนูนเกิดบริเวณชั้นที่อยู่ลึกลงไปของเนื้อเยื่ออ่อนอาจจะไม่แตก เอง ประกอบกับการกัดซ้ำบริเวณที่นูนนั้นก็ทำให้ตุ่มนูนหนาตัวขึ้นและมีขนาดใหญ่ ขึ้นได้ ซึ่งการรักษาก็ทำได้โดยการตัดตุ่มนูนนี้ออกร่วมกับต่อมน้ำลายที่อยู่ข้าง เคียงเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ
ตุ่มนูนที่เกิดจากการขังของน้ำลายนี้สามารถพบ ได้ที่บริเวณใต้ลิ้นด้วย ลักษณะทางคลินิกที่เห็นอาจจะเป็นตุ่มน้ำสีม่วงน้ำเงินคล้ายท้องกบหากเกิด บริเวณผิวบนๆ ของเนื้อเยื่ออ่อน หรือเห็นเป็นตุ่มยกนูนใหญ่ใต้ลิ้นสีคล้ายเนื้อเยื่อใต้ลิ้นปกติหากเกิด บริเวณที่ลึกลงไป ขนาดที่พบตุ่มน้ำลายนูนนี้มีตั้งแต่ไม่ถึงเซ็นติเมตรจนถึงหลายเซ็นติเมตร หากตุ่มนูนนี้มีขนาดใหญ่มากจะทำให้ลิ้นถูกยกขึ้นได้ทำให้ผู้ป่วยรำคาญ การรักษาทำได้โดยการทำให้ขนาดรอยโรคเล็กลงก่อนแล้วตัดออก หรือตัดรอยโรคออกทั้งหมดรวมทั้งต่อมน้ำลายที่เกี่ยวข้องด้วย
การบวมบริเวณขากรรไกรขากรรไกรล่างบวมโต ช้าๆ มีฟันโยกหรือไม่โยกก็ได้ อาจจะเกี่ยวข้องกับการเกิดถุงน้ำในขากรรไกร หรือเป็นเนื้องอกในขากรรไกร เนื้องอกที่พบบ่อยที่ขากรรไกรล่างรู้จักกันในนาม “มะเร็งกรามช้าง” เนื้องอกชนิดนี้จะมีการบวมโตของขากรรไกรอย่างช้าๆ ไม่ค่อยมีอาการเจ็บปวด แม้ว่าจะไม่ใช่มะเร็งแต่มะเร็งกรามช้างก็มีพฤติกรรมค่อนข้างรุนแรงคือจะมี การทำลายกระดูกและเนื้อเยื่อรอบๆได้มาก เมื่อถ่ายภาพรังสีจะพบมีเงาดำในกระดูกขากรรไกรซึ่งแสดงถึงการถูกทำลาย ของกระดูก ฟันที่อยู่ใกล้รอยโรคอาจจะมีโยก รากฟันละลาย ฟันเคลื่อนที่ได้ การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดเอารอยโรครวมถึงเนื้อเยื่อรอบๆออก หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากอาจจะต้องตัดขากรรไกรล่างบริเวณที่เป็นรอยโรคออก ด้วย เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่มีการกลับมาเป็นซ้ำได้สูงดังนั้นการกลับมาตรวจเช็ค บริเวณรอยโรคเป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
จะเห็นได้ว่าอาการบวมในช่องปากส่วนใหญ่เป็น ลักษณะของความผิดปกติ ดังนั้นหากมีการบวมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดในช่องปากผู้ป่วยควรรีบไป ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อสุขภาพในช่องปากที่ดีของผู้ป่วยเองมาใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากกันเถอะค่ะ

1 comment: