Friday, February 10, 2012

อาการมองเห็นจุดดำ หรือลูกน้ำลอยไปมา

อาการมองเห็นจุดดำ หรือลูกน้ำลอยไปมา
โดย แพทย์หญิง อรทัย ชาญสันติ จักษุแพทย์ประจำศูนย์แว่นตาไอซอพติก


                บางคนอาจมีอาการมองเห็นจุดดำ หรือลูกน้ำลอยไปลอยมา ผ่านเข้ามาในขอบเขตของการมองเห็นหรือลานสายตา สิ่งนี้เรียกว่า “floater”  อาการมักจะเด่นชัดเวลาที่มองไปที่พื้นผิวเรียบๆ เช่น ฝาผนังสีพื้น กระดาษเปล่า หรือท้องฟ้า
เงาดำที่เห็นลอยไปมา หรือ floater นี้แท้จริงแล้ว คือ ส่วนของน้ำวุ้นตาที่ขุ่นเป็นจุด, ก้อน หรือเส้น หรือมีเซลล์อยู่ภายใน
น้ำวุ้นตา
  
(น้ำวุ้นตา หรือ Vitreous เป็นส่วนที่บรรจุอยู่ภายในลูกตาด้านหลัง โดยปรกติจะเป็นวุ้นใส โดยโครงสร้างภายในประกอบด้วยน้ำ 99% และโมเลกุลต่างๆ และเส้นใยอีก 1% น้ำวุ้นตาช่วยให้ลูกตาคงรูป และภาพผ่านไปตกที่จอประสาทตาได้ชัดเจน)



ขณะที่เรารู้สึกว่า เวลามองแล้วเหมือนมีอะไรลอยไปมาตรงหน้า แท้จริงแล้ว สิ่งที่เห็นนั้น ลอยอยู่ภายในลูกตาเราเอง แล้วทำให้เกิดเงามาตกบนจอประสาทตาด้านหลังลูกตา เราจึงรู้สึกถึง floater ได้  
Floater อาจมีรูปร่างแตกต่างได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดเล็ก ๆ เป็นวงกลม เป็นเส้น เป็นใยแมงมุมหรือเป็นกลุ่มก้อนเงาคล้ายกับก้อนเมฆ หรือรวงผึ้ง
สาเหตุของ floater

เมื่อคนเราเข้าสู่วัยกลางคน น้ำวุ้นลูกตาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากวุ้นเป็นลักษณะที่เหลว เหมือนน้ำมากขึ้น และหดตัว เส้นใยที่เป็นโครงสร้างของน้ำวุ้นจะรวมตัวกันและหนาตัวเป็นจุด หรือเส้นภายในลูกตา การหดตัวของน้ำวุ้นตา จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกจากจอประสาทตาด้านหลัง เรียกว่า Posterior vitreous detachment ทำให้มีจุดหรือเงาดำ หรือ floater เกิดขึ้น โดยทั่วไปภาวะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงปรกติที่พบได้ในคนสูงอายุอยู่แล้ว เรามักเรียกว่า น้ำวุ้นตาเสื่อม นอกจากนี้แล้วการเห็นจุดดำ หรือ floater  นี้ พบได้ในคนที่มีสายตาสั้น,ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก ฉายแสงเลเซอร์ หรือ มีการอักเสบภายในลูกตา


ภาพแสดงการหดตัวของน้ำวุ้นในตา และเมื่อน้ำวุ้นตาหดตัวจะมีการลอกตัวแยกจากจอประสาทตาด้านหลัง

อาการและอาการแสดง: อาการที่พบคือมองเห็นจุดดำ หรือเงา เส้นลอยไปมาในลานสายตา จุดเหล่านี้จะเคลื่อนไปมาตามการกลอกตาของเรา บางครั้งอาจมีอาการเหมือนเห็นไฟแปล๊บหรือไฟแฟลชร่วมด้วย เกิดจากน้ำวุ้นตาไปดึงรั้งจอประสาทตา


ภาพแสดงอาการมองเห็นจุด หรือเส้นเงาดำลอยไปมา โดยเฉพาะเวลาที่มองไปที่พื้นผิวเรียบ เช่น ท้องฟ้า
 
 


รอยฉีกขาดที่จอประสาทตา
 Floater มีความสำคัญอย่างไร

การหดตัวและการลอกตัวของน้ำวุ้นตา ก่อให้เกิดแรงดึงที่จอประสาทตาได้ ถ้าแรงดึงนี้มีมากอาจทำให้จอประสาทตาฉีกขาด (Retinal tear) ในบางครั้ง การฉีกขาดของจอประสาทตา ทำให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นตา ซึ่งอาจทำให้มีอาการตามัวได้ การที่จอประสาทตาฉีกขาด ถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะก่อให้เกิดจอ ประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) ตามมา และทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด



ภาพซ้ายเป็นไดอะแกรมและภาพขวาเป็นภาพจอประสาทตาจริง ทั้งสองภาพแสดงรอยฉีกขาดจากจอประสาทตา และมีการหลุดลอกของชั้นจอประสาทตา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

ควรทำอย่างไรเมื่อมี Floater
Floater ที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำอันตรายกับลูกตา เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญในการมอง โดยปรกติ คนที่มี floater ก็ยังมีการมองเห็นชัดเจนปรกติ ความรู้สึกที่มีเงาดำลอยไปมา จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง เมื่อเวลาผ่านไป และก่อให้เกิดความรำคาญน้อยลง แม้ว่าในบางคนอาจยังรู้สึกได้เป็นปี
การเกิด floater จากการที่น้ำวุ้นตาเปลี่ยนแปลงเมื่อสูงอายุหรือที่เรียกว่าน้ำวุ้นตาเสื่อม ไม่มีการรักษา  แต่ถ้ามี floater เกิดขึ้น ก็ควรได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ทันที เพื่อดูว่ามีการฉีกขาดของจอประสาทตาร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากภาวะจอประสาทตาฉีกขาดหรือลอกต้องได้รับการรักษา มิฉะนั้นอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ดังนั้น จึงควรพบจักษุแพทย์ ถ้ามีอาการต่อไปนี้
  • รู้สึกว่ามีเงาดำ หรือ floater ใหม่ เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด
  • รู้สึกมีแสงแปล๊บคล้ายไฟแฟลชกล้องถ่ายรูป (flashing) เกิดขึ้นในลูกตา
  • มีอาการมองเห็นผิดปรกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การมองเห็นทางด้านข้างเสียไปหรือลานสายตาแคบลง ควรกลับไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจว่ามีจอประสาทตาฉีกขาด หรือหลุดลอกหรือไม่
รวมถึงมาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอค่ะ






ขอขอบพระคุณ : แพทย์หญิง อรทัย ชาญสันติ จักษุแพทย์ประจำศูนย์แว่นตาไอซอพติก